ตอนที่26 ความเป็นมาของวันทานาบาตะ และสิ่งที่เราอาจจะมองข้ามไป

จากที่เล่าเรื่องของ โกะเสคกุ และวันเด่นๆอย่าง วันเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงไปแล้ว วันนี้เราจะมาต่อกันที่วันสำคัญอีกหนึ่งวัน นั่นก็คือ วันที่ 7 เดือน 7 หรือวันทานาบาตะ

หากพูดถึงวันนี้คงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เพราะถือเป็นวันที่คนไทยที่มีความชื่นชอบในวัฒนธรรมญี่ปุ่น จะต้องรู้จักกันอย่างดี และสิ่งที่จะนึกถึงอย่างแรกเลยก็น่าจะเป็น เทศกาลที่ต้องเขียนคำอธิษฐานลงบนกระดาษสีสันต่างๆ แล้วเอาไปผูกไว้กับต้นไผ่ เพื่อให้สิ่งที่ต้องการเป็นจริง

แต่รู้กันไหมว่าวันนี้มีความเป็นมายังไงและมีเรื่องราวอะไรซ่อนอยู่ในนั้นบ้าง วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังให้ฟังกัน

 

 Creditภาพ: https://www.517japan.com/

หนุ่มเลี้ยงวัว และ สาวทอผ้า ที่คุ้นหู

ก่อนอื่นเลยวันวันนี้มีที่มาจากเรื่องเล่าหนุ่มเลี้ยงวัว และ สาวทอผ้า ซึ่งมาจากฝั่งจีนและญี่ปุ่นได้รับมาตั้งแต่ยุคนาระ หรือตั้งแต่ปลายๆ ค.ศ.700

ถ้าให้เล่าอย่างคร่าวๆเรื่องก็มีอยู่ว่า นานมาแล้วมีชาย-หญิงคู่หนึ่งที่คอยทำงานรับใช้เทพเจ้าอย่างขยันขันแข็ง เรียกได้ว่าทำงานจนไม่ลืมหูลืมตา และคุณภาพของงานนั้นก็ถือว่าเข้าตาเทพผู้เป็นบอสอย่างมาก บอสจึงมีคิดจะให้โบนัสกับหญิงผู้นี้ โดยการให้ไปเจอกับชายหนุ่มเลี้ยงวัวคนหนึ่งเพื่อหวังจะให้ทั้งคู่นั้นรักกัน และมี Work Life Balance ให้มากขึ้น แต่เรื่องกลับไม่เป็นอย่างงั้นเพราะหลังจากทั้งคู่ได้แต่งงานกัน ก็รักอย่างหวานชื่นจนลืมการลืมงานของเทพไปในที่สุด จึงทำให้เทพเจ้าตัดสินใจที่จะแยกทั้งคู่ออกจากกันโดยห้ามเจอกันเด็ดขาดจนทำให้ทั้งคู่เศร้าเสียใจและสุดท้ายก็ไม่ทำงานเหมือนเดิม เทพจึงเกิดสงสารขึ้นมาและลดโทษให้กลายเป็นเจอกันได้ปีละครั้งในวันที่ 7 เดือน 7 และวันๆนี้ก็กลายเป็นวัน ทานาบาตะ นั่นเอง

(ในเรื่องราวของฝั่งจีนจะไม่มีการพูดถึงเทพเจ้าใดๆ แต่จะเป็นพ่อของหญิงทอผ้าแทน)

ว่ากันว่าเรื่องราวของทานาบาตะที่เราได้ฟังกันนั้นคนสมัยก่อนได้รับแรงบันดาลใจจากดาวเวกา และ ดาวอัลแตร์ ที่ถูกทางช้างเผือกกั้นกลางไว้ แต่จะมองเห็นแสงสว่างมากสุดในช่วงเวลานี้นั่นเอง

เรื่องราวจากกระแสรองที่น่าสนใจ

นอกจากความเป็นมาข้างบนแล้ว ในบันทึกพงศาวดารที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นนั้น ก็ได้มีบันทึกถึงประเพณีที่ดูมีความเชื่อมโยงกับเรื่องราวนี้ด้วย ซึ่งจะถูกกล่าวถึงในตำนานที่มีชื่อว่า ทานาบาตะซึเมะ (棚機津女) โดยในนั้นจะเล่าว่า ในสมัยก่อนมีประเพณีที่จะเลือกหญิงสาวที่มีความสามารถในการทอผ้ามาเพื่อทอผ้าถวายเทพแห่งสายน้ำ ซึ่งหญิงสาวที่ถูกเลือกจะต้องไปที่กระท่อมทอผ้าที่อยู่ริมน้ำและทำงานให้เสร็จโดยไม่ยุ่งกับสิ่งภายนอกเลย และเมื่อถึงเวลาเทพแห่งสายน้ำจะลงมารับผ้าผืนนั้นและมีสัมพันธ์กับหญิงสาว หลังจากนั้นหญิงสาวที่ถูกเลือกก็จะกลายเป็นเทพไปด้วย (อาจจะเป็นเรื่องราวที่สื่อถึงการสืบทอดเชื้อสายของผู้มีอำนาจ หรือ ราชวงศ์ของญี่ปุ่นในสมัยก่อน)

 

 

Creditภาพ: http://www.worldfolksong.com/calendar/tanabata/tanabata-tsume.html

 

จากความคล้ายกันของเรื่องราวนี้ ก็มีนักคติชนที่เชื่อว่าเรื่องเล่าของประเพณีนี้ได้ถูกรวมเข้ากับเรื่องเล่าหนุ่มเลี้ยงวัว กับ สาวทอผ้าของฝั่งจีน จนกลายมาเป็นแบบปัจจุบัน ฟังๆดูแล้วค่อยข้างเป็นเรื่องที่ดาร์กมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่กระแสหลักเชื่อกัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลยซะทีเดียว

 

กระดาษสีและต้นไผ่

กลับมาในเรื่องของเทศกาลกันมั่ง อย่างที่รู้กันดีกันว่าอีเว้นท์หลักของเทศกาลนี้คือการเขียนคำอธิษฐานลงบนแผ่นกระดาษสีต่างๆ และนำไปแขวนที่ต้นไผ่ แต่รู้กันไหมว่ากระดาษแต่ละสีที่เราเลือกนั้นก็มีความหมายเหมือนกัน

ตามความเชื่อของจีนและญี่ปุ่นสีนั้นจะเชื่อมโยงกับความหมายต่างๆ และว่ากันว่าถ้าเขียนคำอธิษฐานถูกตามหมวดหมู่ก็จะทำให้โอกาสสมหวังมากขึ้นด้วย

สีแดง  จะแสดงถึงการขอบคุณคนใกล้ชิด และ เป็นสีที่แสดงถึงความแข็งแรง

สีฟ้า สีแห่งการเติบโต พัฒนาตัวเอง และยังรวมถึงความน่าเชื่อหรือความปลอดภัย

สีเหลือง  คือสีแห่งเงินทอง การค้าขาย และมิตรภาพรอบๆตัว

สีขาว หน้าที่การงานของตัวเอง หรือเป้าหมายที่ตัวเองยึดมั่น

สีม่วง การศึกษา และ ความรู้ต่างๆ

นอกจากเรื่องสีแล้วยังมีความเชื่อว่าต้นไผ่ที่แขวนนั้นก็สื่อถึงการเชื่อมโยงกับเทพเจ้า เพราะต้นไผ่จะมีลักษณะชี้ตรงขึ้นไปบนท้องฟ้า และเป็นต้นไม้ที่สามารถปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกตัวด้วย

 

 

creditภาพ: https://thegate12.com/jp/

 

นอกจากที่เล่าๆมาแล้วยังมีความเชื่อมโยงกับเทศกาลโอบง(เทศกาลคล้ายๆเชงเม้ง) ของญี่ปุ่นว่าอาจจะเคยเป็นวันเดียวกันมาก่อน และมีรายละเอียดและความเป็นมาอีกเยอะมากๆ โดยรวมแล้วทานาบาตะก็ถือเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่มีความหมายและความเป็นมาลึกกว่าที่เราคิด ถึงจะยังมีบางส่วนที่ยังกำกวมอยู่ แต่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่ผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นการหลอมรวมระหว่างสองฝั่งอย่างจีนและญี่ปุ่นที่แน่นมากๆจนไม่สามารถแยกจากกันได้ เหมือนกับหนุ่มเลี้ยงวัว กับ สาวทอผ้า ที่ได้มาเจอกันเลยทีเดียว