ตอนที่13 วิธีรับมือกับ Overtourism แบบญี่ปุ่น

วิธีรับมือกับ Overtourism แบบญี่ปุ่น

   เมื่อ 2-3 ปีก่อนหากมีโอกาสได้ไปเที่ยวญี่ปุ่น ก็คงจะคุ้นตากับบรรยากาศที่มีนักท่องเที่ยวมากมายต่อคิวตามร้านอาหาร หรือ เดินขบวนเข้าสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังกันอย่างวุ่นวาย เรียกได้ว่าไปที่ไหนก็ไม่เหงากันแน่นอน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในญี่ปุ่นนั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา โดยเฉพาะช่วงปี 2016 - 2019 ถือเป็นช่วงที่จำนวนนักท่องเที่ยวไหลเข้ามาในญี่ปุ่นเยอะที่สุดเป็นประวัติการณ์เลยทีเดียว โดยมีจำนวนมากสุดที่ 31 ล้านคนในปี 2019


จนทำให้ญี่ปุ่นเริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และต้องการจะผลักดันให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลัก บวกกับกระแสของโตเกียวโอลิมปิกที่ช่วยส่งให้ช่วงนั้นทุกอย่างดูหอมหวานไปหมด

แต่อย่างที่ทุกคนทราบดี เรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2020 จากการระบาดของโควิด 19 ทำให้ทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้…

ถึงอะไรๆจะเปลี่ยนไป แต่ในช่วงปี 2012-2019 นั้นญี่ปุ่นได้มีวิธีรับมือกับปัญหา Overtourism หรือภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมืองที่เกิดขึ้นได้อย่างน่าสนใจและแนบเนียนมากๆจนพวกเราอาจจะไม่รู้ตัว ด้วยซ้ำว่ากำลังอยู่ในกระบวนการนั้นแล้ว 


วั
นนี้เราจะไปดูกันว่าญี่ปุ่นใช้วิธีไหนบ้างในการรับมือกับสถานการณ์นี้

 
Credit:https://note.com/happa1311/n/n87017aedd41d


   ก่อนอื่นเลยปัญหาหลักๆของ Overtourism จะถูกแบ่งเป็น 3 อย่าง ก็คือ ความแออัดในพื้นที่ ปัญหาเรื่องมารยาท และ ความแออัดของขนส่งมวลชน ถ้าหากสามอย่างนี้เกิดขึ้นพร้อมๆกันโดยไม่ได้รับการแก้ไขละก็ ชาวเมืองแถวนั้นก็ไม่เป็นอันกินอันนอนกันแน่ๆ


อย่างแรกเลย เรื่องความแออัดในตัวเมืองนั้นญี่ปุ่นเลือกที่ใช้ “เวลา” ในการแก้ปัญหานี้ ยกตัวอย่างเช่นเมืองยอดฮิตอย่างเกียวโต จะมีการกระจายช่วงเวลาในการจัดอีเว้นท์ของแต่ละที่ไม่ให้ซ้ำกันมากเกินไป โดยจะแบ่งเป็นช่วง เช้า กับ เย็นอย่างชัดเจนให้การเคลื่อนตัวของนักท่องเที่ยวนั้นไหลไปตามสถานที่หรืออีเว้นท์ได้อย่างไม่ติดขัด


   นอกจากนั้นยังมีการแบ่งกิจกรรมตามฤดูกาลให้สมดุลกัน เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวมาแออัดกันในช่วงไฮซีซั่นอีกด้วย เช่น นิทรรศการของหอศิลป์กับพิพิธภัณฑ์ หรือ การเปิดส่วนที่ปกติจะห้ามคนธรรมดาเข้าของวัด ศาลเจ้า และ ปราสาท  ในบางที่ถึงขนาดตั้งเซนเซอร์เพื่อตรวจจับความหนาแน่นของคนในพื้นที่เพื่อเอาไปวางแผนว่าจะกระจายตัวไปยังไงกันเลย

ในส่วนของ"ความแออัด"ของขนส่งมวลชนนั้นก็น่าสนใจมากๆ


เพราะแต่ละเมืองก็จะมีการแบ่งรอบรถไฟหรือรถบัสให้เหมาะกับแต่ละช่วงของวัน เช่นรถบัสจะแยกเส้นระหว่างเส้นท่องเที่ยว กับเส้นที่ใช้คนในเมืองใช้โดยสารประจำวันอย่างชัดเจน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้รถบัสนั้นมีสายและตัวเลขมากมาย นอกจากนั้นภายในบัสในบางพื้นที่เป็นรูปแบบที่ขึ้นรถจากประตูหน้าและจ่ายเงินทันที ส่วนตอนลงก็ลงจากประตูหลัง เพื่อให้ระบายคนออกได้อย่างรวดเร็ว และยังมีเรื่องการสนับสนุนผู้โดยสารใช้วิธีการเปลี่ยนรถจากบัสไปใช้รถไฟด้วยการขายบัตรโดยสาร แบบหนึ่งวันที่สามารถเปลี่ยนจากบัสไปลงรถไฟใต้ดินได้ฟรีด้วย



Credit:https://www.flashpackingjapan.com/kyoto-travel/raku-bus-kyoto/

   สุดท้ายเรื่องที่เป็นปัญหาก็คือเรื่องของ"มารยาทนักท่องเที่ยว" เช่นการส่งเสียงดัง การทิ้งขยะไม่เป็นที่ ไปจนถึงการคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมืองในระแวกนั้นซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่ป้องกันยากที่สุด เพราะเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวโดยตรง แต่ญี่ปุ่นก็มีความพยายามที่จะขอความร่วมมือไปยังเว็บไซต์ท่องจองที่พักหรือตั๋วเครื่องบินชื่อดังต่างๆ ในการประชาสัมพันธ์ มารยาทพื้นฐาน หรือ สิ่งควรทำ เมื่อไปตามสถานที่ต่างๆ ด้วยการใช้กราฟฟิกง่ายๆ หรือวิธีพื้นฐานอย่าง ให้เจ้าหน้าที่คอยดูแล หรือ วางป้ายภาษาต่างชาติให้เยอะขึ้นนั่นเอง

 เราจะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นมีวิธีรับมือกับปัญหานักท่องเที่ยวล้นที่ใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆอยู่พอสมควรตามสไตล์ญี่ปุ่น ถ้ามีโอกาสได้ไปเที่ยวหลังสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว การได้ลองสังเกตสิ่งเล็กๆน้อยๆพวกนี้ก็ถือเป็นความสนุกได้เหมือนกัน