ตอนที่12 วัดเก่าที่ดูไม่เก่าของญี่ปุ่น

วัดเก่าที่ดูไม่เก่าของญี่ปุ่น


ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องวัด หรือ ศาลเจ้า ที่มีเอกลักษณ์และความสวยงามแบบเรียบง่าย

แต่ทราบหรือไม่ว่า ทำไมวัดที่อายุเก่าแก่หลายร้อยปีที่เราเห็นกันอยู่ถึงมีสภาพที่ดีมากๆกันนะ

วันนี้เราจะมาดูไปพร้อมๆกันว่าความลับนั้นคืออะไร


Credit:https://www.shoeishaacademy.co.jp/goukaku-kigan/kigan01/

ต้องอธิบายก่อนว่าวัดและศาลเจ้าของญี่ปุ่นนั้นจะใช้ไม้เป็นส่วนประกอบทั้งหมด โดยจะใช้ลิ่มไม้หรือสลักไม้ประกอบกันให้เข้าร่อง และไม่มีการใช้ตะปูหรือโลหะอื่นๆในการเชื่อมไม้เลย ส่วนสาเหตุนั้นส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะต้องการลดการเกิดสนิมเพื่อไม่ให้ไม้เสียหายหรือดูเก่าลง

เทคนิคนี้ในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกว่า คิกุมิ (木組み)ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้กันมานานมากๆ( ใช้กันมาตั้งแต่ 1700 ปีก่อน โดยประมาณ)
นอกจากนี้จุดเด่นของ คิกุมิ อีกอย่างคือการถอดแยกส่วน เพื่อสลับเอาชิ้นส่วนใหม่มาแทนที่อันที่เสียหายได้นั่นเอง 

แต่เทคนิคเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาดช่างไม้มืออาชีพที่คอยซ่อมแซมวัดหรือศาลเจ้า เนื่องจากเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนสูง โดยช่างไม้เหล่านี้จะเรียกว่า มิยะไดกุ (宮大工)
ซึ่งจะแยกออกจากช่างไม้ทั่วไปหรือ ไดกุ(大工)อย่างสิ้นเชิง พูดง่ายๆก็คือ มิยะไดกุ จะเป็นช่างเฉพาะทางสำหรับวัดหรือศาลเจ้าเท่านั้น

โดยในสมัยโบราณนั้น มิยะไดกุ จะถูกจัดเป็นช่างฝีมือขั้นสูงที่สุดหากเทียบกับแขนงอื่น เนื่องจากกระบวนการในการทำงานจะเริ่มตั้งแต่ การหาวัสดุ หาคนงาน การคำนวนค่าใช้จ่ายต่างๆ การดีไซน์ ไปจนถึงงานประกอบ จึงเป็นงานที่ต้องใช้ความชำนาญในหลายศาสตร์มากๆ โดยส่วนใหญ่ช่างเหล่านี้จะถูกมอบหมายจากรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจในพื้นที่โดยตรงให้ไปซ่อมแซมหรือ สร้างวัดหรือศาลเจ้าต่างๆ

และยังคงเป็นเช่นนั้นมาจนถึงสมัยการปฏิรูปในสมัยเมจิ ที่แนวคิดสมัยเก่าของญี่ปุ่นเริ่มถูกทดแทนด้วยแนวคิดสมัยใหม่ วัดและศาสเจ้าเองก็เป็นหนึ่งในนั้น และมีไม่น้อยที่ถูกเผาทำลายไป อาชีพ มิยะไดกุ ก็เริ่มกลายเป็นความล้าหลังและลดน้อยลง แต่ยังคงเป็นอาชีพที่สืบต่อกันในวงแคบๆไม่ได้แพร่หลายเท่าเดิมจนมาถึงทุกวันนี้


Credit:https://fnakatomi.exblog.jp/18724269/

แม้ในปัจจุบันงานของ มิยะไดกุ อาจจะไม่ได้เยอะและต้องใช้ความสามารถรอบด้านเท่าสมัยก่อน แต่ก็ยังจำเป็นจะต้องมีทักษะ งานแกะสลักและออกแบบ รวมทั้งความรู้ด้านประวัติศาสตร์ และจะไม่มีการใช้คอมพิวเตอร์ หรือ เครื่องมือสมัยใหม่ในการคำนวนตำแหน่งต่างๆเลยเพื่อให้งานที่ได้ออกมาเหมือนกับต้นฉบับมากที่สุด จึงมีโรงเรียนวิชาชีพจำนวนไม่น้อยที่เปิดสอนในสาขานี้ หรือ บริษัทที่เปิดให้คนที่สนใจเข้ามาอบรมได้อยู่มากมาย

แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันอาชีพ มิยะไดกุ ก็กำลังประสบปัญหาเรื่องจำนวนที่ลดลงเรื่อยๆจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ว่ากันว่าช่างที่มีฝีมือชั้นครูนั้นเหลือแค่หลักร้อยคนเท่านั้นในปี 2017

นี้เป็นสาเหตุที่ทำให้วัดและศาสเจ้าญี่ปุ่นนั้นยังอยู่มาได้ถึงปัจจุบัน และยังมีสภาพที่ดีมากๆ ถ้าให้พูดกันจริงๆก็คือตัวศาลเจ้าหรือวัดนั้นแทบไม่มีที่ไหนที่ยังเป็นของเดิมร้อยเปอร์เซนต์อยู่อีกแล้ว เพราะมีการสับเปลี่ยนชิ้นส่วนหรือซ่อมแซมกันตลอดเวลา

แต่นั่นก็ทำให้เอกลักษณ์สำคัญของญี่ปุ่นยังถูกสืบทอดมาได้ถึงปัจจุบันจากการเปลี่ยนผ่าน  ส่งต่อ และพัฒนา ไม่ได้ยกขึ้นหิ้งและปล่อยให้สูญหายไปตามยุคสมัยเช่นเดียวกับวัฒนธรรมอื่นๆของญี่ปุ่น