ตอนที่11 เกียวโตเมืองคุมโทน

เกียวโตเมืองคุมโทน
   เกียวโตถือเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่และยาวนานมากที่สุดเมืองหนึ่งของญี่ปุ่น สำหรับชาวต่างชาติแล้วถ้าพูดถึงความเป็นญี่ปุ่น ภาพของเกียวโตก็คงจะโผล่เข้ามาในหัวเป็นอันดับแรกๆ ไม่ว่าจะเป็นวัดคิโยมิสึ ปราสาทนิโจ ย่านอาราชิยามะ หรือ โซนมรดกโลกต่างๆ หากได้มีโอกาสได้ไปเที่ยวเกียวโตซักครั้งแล้วละก็ เรียกได้ว่าเดินไปทางไหนก็จะได้บรรยากาศญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ถือเป็นเมืองที่ยังรักษาเอกลักษณ์ของความเป็น วะ(和)หรือ ความเป็นญี่ปุ่นแท้ๆ ได้ดีมาก


Photo by Satoshi Hirayama from Pexels

แต่เคยสังเกตกันไหมว่า ภายใต้บรรยากาศ หรือ กลิ่นอาย ความเป็นเมืองเก่าเหล่านี้มีเคล็ดลับบางอย่างซ่อนอยู่

ในวันนี้เราจะมาดูกันว่าสิ่งเหล่านั้นคืออะไร

อย่างหนึ่งที่ถือเป็นส่วนสำคัญเลยคือ สี และ รูปแบบของสิ่งปลูกสร้าง
   ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า เกียวโตเองก็เคยเป็นหนึ่งในเมืองที่ได้รับผลกระทบจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป หลังจากจบสงครามโลกครั้งที่ 2 และกระแสทุนนิยมที่กำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้ตัวเมืองเริ่มมีการพัฒนาขึ้น  ตึกสูง เชนร้านค้า ย่านช้อปปิ้ง เริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมือง ในขณะเดียวกันพื้นที่เมืองเก่าก็ลดหายไป จนทำให้คนบางกลุ่มเริ่มกังวลว่าสิ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์ และสิ่งที่เป็นตัวตนของพวกเขาจะหายไปด้วย

เพื่อชะลอปัญหาเหล่านี้ทางเมืองเกียวโตจึงกำหนดข้อกฏหมายที่ว่าด้วยเรื่องของสิ่งก่อสร้างในตัวเมืองและข้อจำกัดต่างๆขึ้นมา ตั้งแต่ปี ค.ศ.1956 หรือที่เรียกกันว่า Kyoto City Landscape Policy นั่นเอง

  โดยสรุปสั้นๆแล้วข้อกำหนดนี้จะเกี่ยวกับ รูปแบบของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างในตัวเมือง เช่น หากอยู่ใกล้บริเวณวัดหรือสถานที่ทางประวัติศาสตร์ จะห้ามไม่ให้มีความสูงเกินที่กำหนด หรือ ตัวอาคารเองก็ต้องใช้วัสดุตามที่กำหนดด้วย(ส่วนใหญ่แล้วจะต้องมีไม้เป็นส่วนประกอบ) แม้กระทั่งสีที่ใช้ด้วย เพื่อไม่ให้เป็นการทำลายบรรยากาศของพื้นที่ใกล้เคียง หรือส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมือง

 ตอนเราไปเกียวโตหากสังเกตดีๆแล้ว ป้ายหน้าร้านสะดวกซื้อ ฟาสต์ฟู้ด หรือปั๊มน้ำมัน ส่วนใหญ่ก็ถูกปรับโทนสีให้ไม่ฉูดฉาดเกินไปเพื่อทำตามข้อกำหนดเหล่านี้ เช่นป้ายร้านฟาสต์ฟู้ดตัว M ชื่อดัง ก็จะกลายเป็นสีแดงเลือดหมู หรือ สีน้ำตาลแทน หรือบางร้านก็เลือกที่จะเปลี่ยนพื้นหลังของป้ายให้เป็นสีขาวใ ห้ตัวฟ้อนท์เด่นขึ้น เพื่อชดเชยการใช้สีที่ถูกจำกัดเยอะเหลือเกินนั่นเอง

นอกจากเรื่องสีและรูปแบบอาคารแล้ว เกียวโตยังเลือกที่จะเก็บโซนเมืองเก่าไว้ โดยการซื้อบ้านเก่าๆที่ไม่มีคนอยู่แล้วจากเอกชน และมอบให้เป็นการดูแลของมหาวิทยาลัย ทำให้มีมหาวิทยาลัยไม่น้อยในเกียวโตที่เปลี่ยนโซนเมืองเก่าให้กลายเป็นที่ไว้ให้นักศึกษามานั่งเรียน หรือ ศึกษาประวัติศาสตร์จากพื้นที่เหล่านี้


Photo by Satoshi Hirayama from Pexels


  ถ้าคิดดูดีๆแล้วนโยบายนี้ก็สะท้อนความเป็นคนเกียวโตที่ขึ้นชื่อเรื่องการมีความเป็นตัวเองสูง และไม่ค่อยชอบจะให้คนจากที่อื่นมาทำลายสิ่งนี้ได้ดีมากๆ และตัวนโยบายนี้ก็ยังดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน แถมมีแนวโน้มที่จะเข้มขึ้นเรื่อยๆอีกด้วย แน่นอนว่าก็มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ไม่ค่อยชอบแนวทางนี้ซักเท่าไหร่เพราะถือเป็นการเพิ่มขั้นตอนในการเข้ามาลงทุนให้ยุ่งยากมากขึ้น แต่เมื่อรายละเอียดเล็กๆทั้งหมดนี้มารวมกันจึงทำให้เกียวโตยังคนเป็นเมืองที่รักษาความเป็นญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมเอาไว้ได้ และยังมีความร่วมสมัยไปพร้อมๆกัน บางมุมของเกียวโตอาจจะทำให้เรารู้สึกเหมือนเวลาได้ถูกหยุดเอาไว้เลย